ปลานิล Oreochromis nilotica เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา สามารถเลี้ยงได้ในทุกสภาพ การเพาะเลี้ยงในระยะเวลา 8 เดือน - 1 ปีสามารถเจริญเติบโตได้ถึงขนาด 500 กรัม เนื้อปลามีรสชาติดี มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง ขนาดปลานิลที่ตลาดต้องการจะมีน้ำหนักตัวละ 200-300 กรัม จากคุณสมบัติของปลานิลซึ่งเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว แต่ปัจจุบันปลานิลพันธุ์แท้ค่อนข้างจะหายาก เพื่อให้ได้ปลานิลพันธุ์ดีกรมประมงจึงได้ดำเนินการ ปรับปรุงพันธุ์ปลานิลในด้านต่าง ๆ อาทิเจริญเติบโตเร็ว ปริมาณความดกของไข่สูง ให้ผลผลิตและมีความต้านทานโรคสูง เป็นต้น ดังนั้น ผู้เลี้ยงปลานิลจะได้มีความมั่นใจในการเลี้ยงปลานิลเพื่อเพิมผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อไป

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สรุปการเลี้ยงปลานิล

เงินลงทุน

ครั้งแรกประมาณ 20,000 บาท/ไร่/รุ่น (ค่าพันธุ์ปลาขนาด 3 – 5

เซนติเมตร ราคา 0.20 บาท/ตัว เครื่องสูบน้ำ ราคา 7,000 บาท ค่าปุ๋ย ราคา 8,000 บาท/ไร่/รุ่น)

รายได้

ครั้งแรกประมาณ 50,000 บาท/ไร่/รุ่น (1 ปีแรก) (รุ่นต่อ ๆ ไปจะมีรายได้

ต่อรุ่นไม่ถึง 1 ปี เนื่องจากปลาที่เลี้ยงรุ่นแรกมีการขยายพันธุ์ต่อเนื่อง)

วัสดุ/อุปกรณ์

บ่อดิน พันธุ์ปลา ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อาหารเสริม เครื่องสูบน้ำ อวน

สวิง

แหล่งจำหน่ายพันธุ์ปลา

ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทั่วไป สถานีประมงน้ำจืดจังหวัด (กรมประมง)



วิธีดำเนินการ

1. ขุดบ่อดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อที่ขนาด 1 ไร่ ลึกประมาณ 1.5 เมตร และขอบบ่อมีเชิงลาดเทตื้นๆ กว้าง 1–2 เมตร สำหรับให้แม่ปลาวางไข่ จากนั้นโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ เนื้อที่ 10 ตารางเมตร เพื่อปรับสภาพดิน ตากบ่อทิ้งไว้ 2–3 วัน จึงสูบน้ำเข้าบ่อให้มีระดับสูง 1 เมตร

2. ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักลงในบ่อเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ เช่น พืช และไรน้ำ เป็นต้น โดยในระยะแรกควรใส่ประมาณ 250-300 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ส่วนในระยะหลังควรลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง (หากเป็นปุ๋ยคอก ควรตากให้แห้งก่อน แล้วหว่านให้ละลายไปทั่วบ่อ ส่วนปุ๋ยหมัก ควรเทกองไว้ตามมุมบ่อ 2 – 3 แห่ง โดยมีไม้ปักล้อมไว้รอบกองปุ๋ย เพื่อป้องกันส่วนที่ยังไม่สลายตัวลอยกระจัดกระจาย)

3. ปล่อยลูกปลาขนาด 3–5 เซนติเมตร ในอัตรา 1-3 ตัว/ตารางเมตร หรือประมาณ 2,000–5,000 ตัว/ ไร่ ลงในบ่อ

4. นอกจากอาหารธรรมชาติแล้ว ควรให้อาหารเสริม เช่น รำ ปลายข้าว ปลาป่น กากถั่วเหลือง และกากมะพร้าว เป็นต้น โดยให้วันละครั้ง ปริมาณที่ให้ไม่ควรเกิน 4% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง หรือสังเกตจากความต้องการอาหารของปลาที่มารอกินอาหารจากจุดที่ให้เป็นประจำ ควรระวังอย่าให้อาหารมากเกินไป เพราะปลากินไม่หมดจะทำให้น้ำเน่าเสีย เป็นอันตรายต่อปลาได้ จึงควรหมั่นเปลี่ยนน้ำ หากน้ำในบ่อเสีย

5. เมื่อเลี้ยงครบ 1 ปี ปลานิลจะมีน้ำหนักประมาณ ½ กิโลกรัม/ตัว จึงจับจำหน่ายได้ โดยการใช้อวนจับปลา หรือสูบน้ำออกจากบ่อให้เหลือน้อย แล้วนำสวิงตักปลาใส่เข่ง เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป

แหล่งจำหน่าย

ตลาดสดทั่วไป องค์การสะพานปลา โรงงานแปรรูป และร้านอาหารต่าง ๆ

สถานที่ให้คำปรึกษา

1. กองประมงน้ำจืด กรมประมง โทร. 579-8561

2. สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดทุกจังหวัด และศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด

ข้อแนะนำ

1. บ่อเลี้ยงปลานิล ควรมีเนื้อที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตร ขึ้นไป เพราะปลานิลแพร่ขยายพันธุ์เร็ว หากเนื้อที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป เพราะปลานิลแพร่ขยายพันธุ์เร็ว หากเนื้อที่น้อยจะทำให้บ่อหนาแน่นมากและปลาไม่เจริญเติบโต

2. หากบ่อเลี้ยงปลาอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ควรสร้างท่อระบายน้ำที่พื้นบ่อแล้วกรุด้วยตะแกรงตาถี่ โดยจัดระบบน้ำเข้าออกคนละทาง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ

3. เมื่อมีลูกปลาเกิดขึ้นมาใหม่ในบ่อที่เลี้ยง ควรแยกมาเลี้ยงอีกบ่อหนึ่ง เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณ และป้องกันมิให้ถูกปลาตัวใหญ่กินเป็นอาหาร

4. สามารถนำปลานิลไปแปรรูป เช่น ทำปลาเค็มตากแห้ง ปลากรอบ ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาส้ม เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที่มาของข้อมูล

การเพาะเลี้ยงปลานิล
เอกสารคำแนะนำ
ฝ่ายเผยแพร่ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง
กรมประมง