"จิตรลดา3" ปลานิลสายพันธุ์ใหม่ ความสำเร็จของการพัฒนา
"ปลานิลจิตรลดา 3" เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากกำลังเป็นที่นิยมของเกษตรกรในการนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่าย ด้วยคุณลักษณะของเนื้อปลาที่ขาวสะอาด น่ารับประทาน และมีรสชาติดี อีกทั้งยังเลี้ยงง่ายและโตเร็ว สามารถจำหน่ายได้ราคา 30 บาท/กก. ในขณะที่ปลานิลพันธุ์พื้นเมืองจะจำหน่ายกันอยู่ที่ราคา 12-15 บาท/กก. ประกอบกับภาคเอกชนได้พัฒนาคุณภาพการเพาะเลี้ยง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป้นเนื้อปลาแช่สด แช่แข็ง เนื้อปลาชุบเกล็ดขนมปัง และเนื้อปลาปรุงรส จนสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น มีปริมาณโดยรวมถึงปีละ 90,000 ตัน
ดร.สิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าปลานิลจิตรลดา 3 ถือเป็นความสำเร็จของกรมประมง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ที่ได้มีการพัฒนาพันธุ์ปลานิลจิตรลดา 3 จนได้ลักษณะเด่น 3 ประการ คือหัวเล็ก เนื้อมาก และโตเร็ว พร้อมทั้งได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
ปลานิลจิตรลดา 3 ของกรมประมงนั้นเป็นปลานิลที่สืบสายพันธุ์มาจาก "ปลานิล GIFT (Gernetic Improvement of Farmed Tilapias) ซึ่งมีประวัติการพัฒนาพันธุ์มาจากประชากรปลานิลสายพันธุ์ต่าง ๆ 8 สายพันธุ์ จาก 8 ประเทศ คือไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน อิสราเอล อียิปต์ กานา เซเนกัล และเคนยา ด้วยการผสมข้ามประชากรแล้วคัดเลือกเฉพาะปลาที่มีลักษณะที่ต้องการ เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไปโดยหน่วยงาน ICLARM ในประเทศฟิลิปปินส์"
ด้านนายสมชาติ สุขวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้นำปลานิล GIFT เข้ามาทดสอบในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2537 - 2539 พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าปลานิลพันธุ์พื้นเมืองถึง 40 % จึงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจนแพร่หลาย
"ขณะนี้ทางสถาบันฯ กำลังทำการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลจิตรลดา 3 ด้วยการคัดเลือกต่อไปอีก เพื่อพัฒนาพันธุ์ให้มีลำตัวหนาขึ้น มีปริมาณเนื้อมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับการแปรรูปเนื้อปลาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการนำหนังปลาจิตรลดา 3 มาฟอกย้อมเป็นเครื่องหนัง ซึ่งล่าสุดภาคเอกชนได้มีการทดลองผลิตสินค้าจากหนังปลานิลจิตรลดา 3 แล้วได้ผลเป็นอย่างดี" นายสมชาติกล่าว
นอกจากนี้ยังได้จัดทำ "ปลานิลจิตรลดา 3 แปลงเพศ" ซึ่งเป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการแปลงเพศให้เป็นเพศผู้ล้วน เหตุผลก็เพราะปลานิลเพศผู้โตเร็วกว่าเพศเมีย ซึ่งปัจจุบันลูกปลานิลจิตรลดา 3 แปลงเพศของสถาบันฯ กำลังเป็นที่ต้องการของเกษตรกรผุ้เลี้ยงปลาเป็นอย่างมาก เพราะมีอัตราจำนวนเพศผู้สูงถึง 95-99% และเมื่อนำไปเลี้ยงจากลูกปลาขนาด ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 6 เดือน จะได้ขนาดตัวตั้งแต่ 800 กรัม ถึง 1 ก.ก. ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมในการแปรรูป และทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในขณะที่ปลานิลพันธุ์พื้นเมืองต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงถึงประมาณ 10-12 เดือน จึงจะสามารถจับขึ้นมาจำหน่ายได้
แนวโน้มการส่งออกของปลานิลจิตรลดา 3 ยังสามารถขยายการส่งออกไปได้อีกมาก ด้วยลักษณะของเนื้อปลาที่ขาวสะอาดและมีรสชาติดี ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะชาวยุโรปและอเมริกัน ประกอบกับกำลังการผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกัน การส่งออกเนื้อปลานิลและผลิตภัณฑ์ปลานิลแปรรูปยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากสัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ ที่มีปัญหาในเรื่องของการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า จึงเชื่อว่าในอนาคตปลานิลจิตรลดา 3จะเป็นสัตว์น้ำที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอีกชนิดหนึ่ง
สำหรับเกษตรกรรายใดที่ต้องการรายได้เสริม หรือต้องการประกอบอาชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ "ปลานิลจิตรลดา 3"จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ จ.ปทุมธานี โทร. 0-2577-5058-60
ที่มา:http://www.news.cedis.or.th
ปลานิล Oreochromis nilotica เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา สามารถเลี้ยงได้ในทุกสภาพ การเพาะเลี้ยงในระยะเวลา 8 เดือน - 1 ปีสามารถเจริญเติบโตได้ถึงขนาด 500 กรัม เนื้อปลามีรสชาติดี มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง ขนาดปลานิลที่ตลาดต้องการจะมีน้ำหนักตัวละ 200-300 กรัม จากคุณสมบัติของปลานิลซึ่งเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว แต่ปัจจุบันปลานิลพันธุ์แท้ค่อนข้างจะหายาก เพื่อให้ได้ปลานิลพันธุ์ดีกรมประมงจึงได้ดำเนินการ ปรับปรุงพันธุ์ปลานิลในด้านต่าง ๆ อาทิเจริญเติบโตเร็ว ปริมาณความดกของไข่สูง ให้ผลผลิตและมีความต้านทานโรคสูง เป็นต้น ดังนั้น ผู้เลี้ยงปลานิลจะได้มีความมั่นใจในการเลี้ยงปลานิลเพื่อเพิมผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ที่มาของข้อมูล
การเพาะเลี้ยงปลานิล
เอกสารคำแนะนำ
ฝ่ายเผยแพร่ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง
กรมประมง
อยากรู้ว่ามีที่ไหนอีก
ตอบลบ